Always '64

Always 3

โรง Lido 3

(บันทึกไว้อ่านเองครับ)

**เนื้อหามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ไม่เหมาะกับผู้ที่ยังไม่เคยดูและต้องการอรรถรสในการดูรอบแรกครับ***

เพิ่งไปดู Always ภาค 3 มาครับ แต่ผมไม่เห็นเลข 3 ที่ชื่อหนังเลยนะ เห็นแต่ '64 เพราะว่าเนื้อเรื่องของภาคนี้เกิดขึ้นในปี 1964 เป็นปีที่มีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว แสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สามารถเตรียมความพร้อมจนสามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับประเทศได้

ญี่ปุ่นในยุคนั้น เป็นยุคที่การใช้รถยนต์เป็นเรื่องปกติแล้ว ทีวีก็มีกันทุกบ้าน(ขาวดำ) แต่ทีวีสียังเป็นของใช้รุ่นใหม่ ราคาแพง และสามารถเรียกร้องความสนใจจากเพื่อนบ้านได้ตอนของมาส่ง

ร้านซูซูกิ ออโต้ ดูมีพัฒนาการที่เด่นชัด จากบันไดไม้กลายเป็นบันไดเหล็ก ป้ายหน้าร้านก็ปรับปรุงให้ดูสะอาดตาและทันสมัย กิจการก็เติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคนั้น พร้อมกับมีพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ซึ่งก็กลายมาเป็นลูกมือของ โรขุจัง ไปโดยปริยาย

ข้ามมาที่ฝั่งตรงข้าม ร้านขายของเล่นเด็ก มีการขยับขยายที่ทางขึ้นไปเป็น 2 ชั้น สำหรับให้ จุนโนสุเกะ ใช้เป็นห้องส่วนตัว (และใช้อ่านหนังสือเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยไคโต) ส่วนชั้นล่างก็ดัดแปลงมาเป็นบาร์ขายเหล้าให้ ฮิโรมิ ที่ท้องแก่ตั้งแต่ต้นเรื่อง ได้มีงานทำเล็กๆน้อยๆ (แต่สามารถเลี้ยงสามีได้!!!) และก็ยังไม่วายโดนแซวจากลูกค้าขาประจำทั้งหลาย

จุนโนะสุเกะ และ อิปเป ตอนนี้กลายเป็นวัยรุ่น ช่วงวัยที่กำลังทดลองเดินตามทางของตนเอง แม้ว่าตัวละครหลักจะไม่มีเด็กๆแล้ว แต่ฉากในหนังก็จะให้เราเห็นเด็กกลุ่มอื่นๆ (ที่ไม่มีบทบาท) อยู่ตลอดเรื่อง ช่วยให้มิติของหนังดูสมจริง มีการผลัดเปลี่ยนรุ่นกันไปตามช่วงเวลา

สิ่งที่เป็นท่าบังคับของหนังเรื่่องนี้คือ เปิดเรื่องด้วยเครื่องบิน และจบเรื่องด้วยฉากพระอาทิตย์ตก (แต่ไม่เห็นพระอาทิตย์!!!) และฉากหอโตเกียว ที่มีให้เป็นอยู่ทุกระยะ จนเหมือนกับว่า มันคอยทำหน้าที่สอดส่องดูแลเมืองนี้อยู่ตลอดเวลา (เป็นความรู้สึกส่วนตัว)

คุณลุงขายน้ำแข็งในภาคแรก ได้เปลี่ยนอาชีพเป็นคนขายไอติมแท่งในภาคสอง และภาคนี้ก็วิวัฒนาการไปอีกขั้น ด้วยการเป็นเจ้าของตู้ขายน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ (พร้อมป้าย "ร้านขายน้ำแข็งใส") ภาคนี้ลุงน่าจะสบายได้แล้ว เพราะเครื่องขายน้ำนี้ค่อนข้างฮิต ตัวละครในเรื่องหลายๆคนก็เป็นลูกค้าเจ้าเครื่องนี้ (กลุ่มของอิปเป กับซูซูกิออโต้) แต่ลุงแกกลับต้องมานั่งเฝ้าเจ้าเครื่องนี้ เพราะกลัวคนมาขโมยน้ำ (น่าจะเอาเวลาไปหาทำเลวางเครื่องเพิ่มเนอะ)

พูดถึง ซูซูกิออโต้ ผมสังเกตุมาตั้งแต่ภาคแรกๆแล้ว ว่าตัวละครตัวนี้จะเป็นตัวละครที่สามารถไปปรากฏตัวได้ในทุกๆที่ ทั้งแถวบ้าน ร้านเหล้า ซุ้มของป้าโค้ก ดูแล้วจะรู้สึกได้ถึงบุคลิกของคนที่ ขยัน ทำงานหนัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนกว้างขวาง สามารถเข้ากับทุกคนในชุมชนได้ (ถ้ามีให้เลือกผู้นำชุมชน คงจะสอบผ่าน)

ฉากที่ ซูซูกิ ออโต้ กับ เรียวโนะสุเกะ (นักประพันธ์) ปรับทุกข์กันเรื่องเด็กๆ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างของทั้ง 2 คน ระหว่างคนที่อยู่ในระบบการศึกษา คาดหวังไว้กับการเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี เพื่อที่จะได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ และมีชีวิตที่มั่นคง ไม่อยากให้ซ้ำรอยความผิดพลาดของตน ที่เลือกเส้นทางนักเขียน กับคนที่ผ่านชีวิตมาด้วยลำแข้งของตนเอง ต้องการให้ลูกสืบทอดกิจการที่ตนสร้างมากับมือ และภูมิใจหากลูกเลือกตนเป็นแบบอย่าง และอยากเดินตามรอยผู้เป็นพ่อ

จุนโนะสุเกะ ที่มีความสามารถในงานเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ ผลงานในวัยประถมของเขา ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารรายเดือน กลับถูกตีกรอบด้วยความหวังดีจาก เรียวโนะสุเกะ ผู้ที่คิดว่าเขาเลือกทางเดินผิด และไม่อยากให้ จุนโนะสุเกะ เด็กที่เขาเลี้ยงมาจนโต และเป็นเสมือน ลูกชายคนโตที่รักที่สุด ต้องมาลำบากแบบเขาอีก สั่งห้ามเขียนนิยาย และให้ตั้งใจเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ห้องส่วนตัวที่เขาสร้าง เพื่อให้ จุนโนะสุเกะ อ่านหนังสือ กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว สำหรับให้ จุนจัง (จุนโนสุเกะ) ทำในสิ่งที่เขารัก นั่นคือการเขียนนิยาย นิยายที่ จุนจัง แอบเขียนส่งนิตยสาร (ชื่อเรื่อง "ไวรัส") ได้รับการตีพิมพ์และมีผลตอบรับจากแฟนหนังสือดีมาก บวกกับกระแสของมังงะที่มาเบียดพื้นที่หน้ากระดาษในนิตยสารสำหรับเด็ก ทำให้ผลงานของ นักประพันธ์ ต้องหยุดการตีพิมพ์

เมื่อเรื่องนี้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป จุนจังถูกสั่งห้ามเขียนนิยาย และเขาเองก็รับฟังแต่โดยดี จุนจังยอมเชื่อฟัง และปฏิเสธไม่เขียนนิยายต่อ ยอมหยุดทำสิ่งที่เขารัก เพราะเขาไม่อยากดื้อกับคุณน้า (นักประพันธ์) ที่เขาเคารพ และถือเป็นแบบอย่าง

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้น เมื่อ เรียวโนะสุเกะ เดินทางกลับบ้านเพื่อไปงานศพพ่อ พ่อที่ดูถูกอาชีพนักเขียนนิยาย จนทะเลาะกันจนถึงขั้นลงไม้ลงมือแล้วไล่ออกจากบ้าน เรียวโนะสุเกะไม่เต็มใจไปงานศพพ่อ แต่เพราะ ฮิโรมิ เขาจึงยอม

ที่งานศพนั้น เขากลับพบว่า ความจริงแล้ว พ่อที่เขาคิดว่าเกลียดเขา ไม่เคยสนับสนุนอาชีพนักเขียน กลับกลายเป็นแฟนคลับ ที่คอยติดตามผลงานของเขาอยู่ตลอด 5 ปีก่อน (คือเนื้อเรื่องในภาค 2) ที่เขาได้เข้าชิงรางวัล โอตาคุ พ่อของเขาภูมิใจในตัวลูกชาย ถึงกับซื้อหนังสือที่ตีพิมพ์ผลงานของ เรียวโนะสุกเกะ มาแจกเพื่อนบ้าน

ห้องนอนของ เรียวโนะสุเกะ ที่บ้านพ่อ ยังคงสภาพเหมือนเดิม ทุกอย่างถูกรักษาไว้อย่างดี งานเขียนของเขาทุกชิ้นจะมีคำวิจารณ์จากพ่อของเขา ที่แสดงออกได้ถึงความใส่ใจ และตั้งใจติดตามผลงานอย่างดี เขาเข้าใจผิดมาตลอด และพ่อยอมให้เขาเข้าใจผิดไปตลอด เพื่อตัวเขาเอง

เหตุผลที่พ่อต้องทำกับ เรียวโนะสุเกะ แบบนั้น ก็เพราะว่า ในความคิดของพ่อ "อาชีพนักเขียนเป็นเส้นทางที่ลำบาก ต้องสู้แบบหลังชนฝาเท่านั้น นั่นเป็นวิธีการเดียวที่จะสนับสนุนเขา" และมันก็ได้ผลจริงๆ หลายๆครั้งที่ เรียวโนะสุเกะ ท้อแท้ หรือเกิดคำถามขึ้นในใจ ก็ได้พ่อของเขาเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อ

เมื่อกลับมาที่บ้าน เรียวโนะสุเกะ จึงสร้างสถานการณ์ ด้วยการขอร้องให้บรรณาธิการ ตามมาตื๊อพร้อมเสนอทางเลือกให้ จุนโนะสุเกะ สามารถเขียนนิยายต่อ คุณน้า กดดันให้ จุนจัง พูดความในใจ และตัดสินใจเลือกทางเดินตามความรู้สึกของตัวเอง คำพูดของ จุนจัง เต็มไปด้วยความอ่อนน้อม และสำนึกในบุญคุณ แต่ก็กล้าหาญ และแสดงออกถึงความต้องการของตัวเอง "ผมหลอกตัวเองไม่ได้ ผมรักสิ่งนี้ คุณน้าบอกว่าเส้นทางนี้มันลำบาก แต่คุณน้าก็ยังไม่เลิกเขียนนิยาย ทำไมคุณน้าถึงมาสอนผมในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ อย่ามาขโมยความฝันของผม ผมจะทำตามความฝัน ถึงแม้จะโดนหาว่าเนรคุณก็ตาม" เป็นอารมณ์เกรี้ยวกราดในแบบวัยรุ่น เรียวโนะสุเกะชกหน้าจุนจังด้วยความโมโห พร้อมกับปรักปรำ (ในความคิดผมนะ) ว่าแกมันโกหก แกมันเนรคุณ แต่จุนจังกลับไม่รู้สึกโกรธ (ตามนิสัยวัยรุ่น เพราะตอนแรกแอบลุ้นว่า มันจะเอาคืนป่าววะ) สีหน้าจุนจังรู้สึกผิดมาก และคอยพูดแต่ว่า "ไม่ใช่นะครับ" "ไม่ใช่อย่างนั้น" เป็นการเถียงที่สุภาพมาก จุนจังจะไม่ยัดเยียดเหตุผลกลับ ถ้าอีกฝ่ายยังไม่หยุดฟัง สุดท้ายก็ไม่ได้อธิบายอะไรมาก เพราะโดนตัดบท และโดนไล่ออกจากบ้าน

ฉากต่อมาเป็นฉากที่เรียกน้ำตาได้แรง และนานที่สุด มุมกล้องและจังหวะของภาพ เหมือนกับภาคแรกอย่างจงใจ นั่นคือ เรียวโนะสุเกะ เจอปากกาที่จุนจังลืมไว้ และตั้งใจจะเอาไปให้ สิ่งที่ต่างกันคือตอนจบที่เป็นการจากลา ทว่าก็เป็นการจากลาที่อบอุ่น และเป็นการสนับสนุนด้วยแรงกดดันที่กำลังเหมาะ (ดูไม่รุนแรงเท่ากับที่ เรียวโนะสุเกะ ได้รับจากพ่อ)

พูดถึงเรื่องของขวัญ ทำให้นึกได้ว่าภาคนี้เราไม่ได้เห็นฉาก ฮิโรมิ ส่องแหวนวิเศษที่นิ้วนางข้างซ้ายเลย เป็นไปได้ว่า การทำแบบนั้นแสดงถึงการคิดถึง แต่ภาคนี้ได้อยู่ด้วยกันแล้ว และ ฮิโรมิ เองก็มีความสุขมาก การกระทำหลายๆอย่างของ ฮิโรมิ แสดงออกในตัวอยู่แล้วว่า รัก และใส่ใจสามีของตนแค่ไหน

(ยังมีอีกหลายส่วน ที่อยากพูดถึง แฟนโรขุจัง หมอทาคุมิ ป้าโค้ก อิปเป ทาเคโอะ แต่ตอนนี้ขี้เกียจแล้ว และไม่รู้ว่าจะขยันมาเขียนอีกหรือเปล่า 55)

Comments

Popular posts from this blog

Harry Potter and the Philosopher's Stone: จงแสดงวิธีทำ ปริศนาน้ำยากันไฟ

แฟนเดย์ One day -spoiler alert-

Kimi no Na wa: timeline explained